วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

การละเมิด


กฎหมายเกี่ยวกับการละเมิด

บุคคลใดได้รับความเสียหายจากการกระทำโดยผิดกฎหมาย มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามกฎหมายไทยได้  ก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นสามารถพิสูจน์ได้ว่า ได้รับความเสียหายและมีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์และดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการพิจารณาของศาล ส่วนใหญ่สิทธิของประชาชนที่จะสามารถเรียกค่าเสียหายเนื่องจากการกระทำละเมิด  จะครอบคลุมถึงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และ มาตรา423
มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี แก่อนามัยก็ดี แก่เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา 423 บัญญัติว่า ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่นก็ดี หรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้หรือทางเจริญของเขาโดยประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้ ผู้ใดส่งข่าวสาส์นอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเองหรือผู้รับข่าวสาส์นนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้ว ท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสาส์นเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่
นอกจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังมีกฎหมายอื่นที่จะคุ้มครองสิทธิแก่บุคคลที่ถูกกระทำในทางละเมิด เช่น ประมวลกฎหมายอาญา กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และพระราชบัญญัติทรัพย์สินทางปัญญา ในการพิจารณาว่าค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยตามสมควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น